27 February 2014

โมเดลปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

โมเดลปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 
CAUSAL MODEL OF FACTORS EFFECTING ON RAJAMANGALA UNIVERSITY OF TECHNOLOGY COUNCIL ROLES
ดร.ปกรณ์ ลวกุล  
Dr.Pakorn Lawakul

(บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระดับปริญญาเอก ครุศาสตร์อุตสาหกรรมดุษฏีบัณฑิต สาขาการบริหารอาชีวศึกษา สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ของ ดร.ปกรณ์ ลวกุล ได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ในวารสารครุศาสตร์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 41 ฉบับที่ 3 เดือน กรกฎาคม – กันยายน 2556)

บทคัดย่อ 
        การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโมเดลปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ประกอบด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการ และผู้บริหารตั้งแต่ระดับรองคณบดีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น ๓๗๔ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามความคิดเห็น การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรม SPSS ในการหาค่าสถิติพื้นฐาน และการใช้โปรแกรม LISREL 8.72 ในการวิเคระห์ความตรงเชิงโครงสร้างของโมเดลปัจจัยเชิงสาเหตุ
       ผลการวิจัยพบว่า โมเดลปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์อยู่ในเกณฑ์ดี โดยพิจารณาจาก ค่าไค-สแควร์เท่ากับ ๑.๑๔๓ ที่องศาอิสระเท่ากับ ๑๒๔ ดัชนี GFI เท่ากับ ๐.๙๒ ดัชนี AGFI เท่ากับ ๐.๘๗ ค่า Standardizer RMR เท่ากับ ๐.๐๒๗ และค่า RMSEA เท่ากับ ๐.๐๔๘ ตัวแปรที่มีอิทธิพลทางตรงต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ได้แก่ ภาวะผู้นำ เครือข่ายความร่วมมือ โครงสร้าง ภูมิหลัง และระบบบริหาร

ABSTRACT
This research aims to develop a causal model of factors affecting the role of the University of Technology. The sample is comprised of University Technology Council. Council staff and officials. And executive vice dean level or above. A total of 374 samples used in this research. Questionnaire. Data Analysis Using SPSS for statistical basis. Using LISREL 8.72 and the analysis was the correlation structure of the causal model.
The results showed that Modeling Factors Affecting the Rights of the Council is consistent with the empirical data is satisfactory. By considering. Chi - Square equals 1.143 with degrees of freedom equal to the 124 index, GFI was 0.92 index, AGFI was 0.87 for Standardizer RMR was .027 and the RMSEA was .048 Variables with a statistically significant direct effect on Leadership , Network , Structure , Background and Management System.

คำสำคัญ : บทบาทหน้าที่ สภามหาวิทยาลัย ปัจจัยเชิงสาเหตุ

บทนำ 
       มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันที่จัดการศึกษาขั้นสูงสุด เป็นแหล่งผลิตกำลังคนที่มีผลต่อการวางแผนอนาคตของประเทศ มหาวิทยาลัยเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมของสังคม เป็นเส้นทางหลักที่เป็นทางเลือกของกำลังพลรุ่นหนุ่มสาวของประเทศที่จะช่วยขับเคลื่อนและยกระดับคุณภาพของบริบทกำลังการขยายตัวตามความต้องการของสังคม นักบริหารการอุดมศึกษาทั้งของประเทศไทย และนานาชาติได้นิยามบทบาทขององค์กรสูงสุดของมหาวิทยาลัย ว่า ในหลายประเทศให้ความสำคัญต่อคุณค่าของมหาวิทยาลัยว่าเป็นเสมือนราคาของสังคม โดยเล็งเห็นว่าการลงทุนให้กับมหาวิทยาลัยนั้นเปรียบได้กับการลงทุนเพื่ออนาคตของประเทศ องค์กรสูงสุดของมหาวิทยาลัยนั้นเป็นเสมือนรัฐบาลของมหาวิทยาลัยนั้น ในการกำกับดูแลทั้งด้านการเงินการคลัง ด้านสังคม และผู้มีส่วนได้เสียในมหาวิทยาลัย ในกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวกับนโยบายของมหาวิทยาลัยทั้งหมด  (Moses , 2006)
       กรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว ๑๕ ปี ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๕๑-๒๕๖๕) ได้ให้ความสำคัญต่อธรรมมาภิบาล และการบริหารจัดการ (Governance and Management) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษา องค์กรสูงสุดของสถาบันอุดมศึกษา คือ สภามหาวิทยาลัย จึงเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญ และมีความรับผิดชอบต่อการเจริญเติบโตก้าวหน้าของสถาบันและการมีผลผลิตที่ดีตามภาระกิจของมหาวิทยาลัย (สกอ. , ๒๕๕๐) ทั้งในด้านวิชาการ ด้านการวิจัย ด้านการบริการวิชาการแก่สังคม และด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม (สถาบันคลังสมองของชาติ , ๒๕๕๓) กรรมการสภามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสมาชิกขององค์กรจึงมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยตามหน้าที่ โดยครอบคลุมทั้งบทบาทด้านการวางนโยบาย และการออกระเบียบข้อบังคับ บทบาทด้านการกำกับ ติดตาม และประเมินผล บทบาทด้านการพิจารณาดำเนินการ และการพิจารณาให้ความเห็นชอบ และบทบาทด้านการสนับสนุนงานของมหาวิทยาลัย ปัจจุบันการใช้อำนาจหน้าที่ตามบทบาทของสภามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยังขาดประสิทธิภาพ สาเหตุเนื่องจาก ๑) โครงสร้างของสภามหาวิทยาลัยไม่เป็นธรรมาภิบาล ๒) สภามหาวิทยาลัยทํางานในลักษณะของงานประจําตามหน้าที่ มากกว่างานในเชิงการกํากับ ติดตาม การกําหนดนโยบาย ๓) วัฒนธรรมของสังคมไทยที่ให้เกียรติและเกื้อกูลกัน ๔) กรรมการสภามหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งขาดความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ และภารกิจด้านอุดมศึกษา ๕) ขาดข้อมูลสารสนเทศที่ครบถ้วน ชัดเจนในการบริหารจัดการ การตัดสินใจ และการทํางานเชิงรุก ๖) สภามหาวิทยาลัยเป็นองค์คณะบุคคล ทํางานโดยใช้การประชุม จําเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานรองรับสนับสนุนการทํางาน เพื่อเป็นเครื่องมือกลไกในการขับเคลื่อนการทํางาน (ฉวีวรรณ , ๒๕๕๓) อีกทั้งการทำหน้าที่ของกรรมการสภามหาวิทยาลัยอย่างมีประสิทธิภาพนั้นมีประเด็นที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงอยู่หลายประเด็น เช่น ๑) ขนาดของคณะกรรมการ ๒) องค์ประกอบของคณะกรรมการ ๓) กระบวนการสรรหาและตอบรับ ๔) วัฒนธรรมและรูปแบบการประชุม ๕) วาระเชิงธุรการและยุทธศาสตร์ ๖) บทบาทของกรรมการ ๗) อนุกรรมการที่จำเป็น ๘) ความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการและอธิการบดี ๙) การเชื่อมโยงของสภามหาวิทยาลัยกับหน่วยงานภายนอก และ ๑๐) หน้าที่ของเลขานุการสภามหาวิทยาลัย (ไกรฤทธิ์ บุญเกียรติ , ๒๕๕๓)
       มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เดิมเป็นสถาบันการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของวิทยาลัยในสังกัดกรมอาชีวศึกษา ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน ๓๕ แห่งทั่วประเทศจัดตั้งเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๑ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และเมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๔๘ ได้มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ.๒๕๔๘ มีเหตุผลตามหมายเหตุแนบท้าย พรบ.ฯ ว่า สมควรจัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำนวน ๙ แห่ง ขึ้นแทนสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีที่มีวัตถุประสงค์ ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงที่มุ่งเน้นการปฏิบัติ ทำการสอน ทำการวิจัย ผลิตครูวิชาชีพ ให้บริการทางวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม โดยให้ผู้สำเร็จการอาชีวศึกษามีโอกาสในการศึกษาต่อด้านวิชาชีพเฉพาะทางระดับปริญญาเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ (ราชกิจจานุเบกษา , ๒๕๔๘)  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลจึงถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ที่สถาปนาขึ้นมาพร้อมกัน ๙ แห่งทั่วประเทศที่มีบริบททางการศึกษาที่พัฒนามาจากการเป็นสถาบันอาชีวศึกษาก้าวขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลัก อีกทั้งยังได้กำหนดให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแต่ละแห่งมีสภามหาวิทยาลัย ซึ่งได้กำหนดถึง จำนวนกรรมการ ที่มาของกรรมการ คุณสมบัติ อำนาจ และบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้งหมดเหมือนกันทั้ง ๙ แห่ง (ราชกิจจานุเบกษา , ๒๕๔๘)
       การพัฒนาจากการเป็นวิทยาเขตที่จัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษาจำนวนหลายวิทยาเขตหลอมรวมเข้าด้วยกันเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง ๙ แห่ง องค์กรสูงสุดที่บริหารจัดการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง ๙ แห่ง ซึ่งก็คือ สภามหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง ๙ แห่ง จึงเป็นองค์กรที่มีความสำคัญอย่างมากในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย อีกทั้งความน่าสนใจต่อบริบทของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง ๙ ซึ่งมีความแตกต่างกันหลายมิติ เช่น มิติเชิงปริมาณที่มีจำนวนหน่วยงานในสังกัดที่แตกต่างกัน มิติเชิงพื้นที่ที่มีที่ตั้งอยู่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และมิติเชิงการบริหารจัดการที่กำหนดบทบาทของหน่วยงานในสังกัดที่แตกต่างกัน แต่ได้ใช้ข้อกำหนดเกี่ยวกับสภามหาวิทยาลัยที่เหมือนกัน ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาวิจัยเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยโดยใช้กรณีศึกษาเฉพาะมหาวิทยาลัยเทคโลยีราชมงคล เพื่อสร้างโมเดลปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

วัตถุประสงค์ของการวิจัย 
๑. เพื่อพัฒนาโมเดลปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
๒. เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

กรอบแนวคิดในการวิจัย
       โมเดลปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ผู้วิจัยได้ศึกษาและสร้างกรอบแนวคิดในการวิจัยจากบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ.๒๕๔๘ (ราชกิจจานุเบกษา , ๒๕๔๘) ดังนี้
           ๑. ด้านการวางนโยบาย และการออกระเบียบข้อบังคับ
           ๒. ด้านการกำกับ ติดตาม และประเมินผล
           ๓. ด้านการพิจารณาดำเนินการ และการพิจารณาให้ความเห็นชอบ
           ๔. ด้านการสนับสนุนงานของมหาวิทยาลัย
       ปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ได้สังเคราะห์แนวคิดของ Moses (2006) , Fielden (2008), วัฒนา ล่วงลือ (๒๕๓๘) และ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร (๒๕๕๐) และการจัดสนทนากลุ่ม (DRLE , 2010) โดยผู้วิจัยสรุปเป็นกรอบแนวคิดที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย ๑. ภาวะผู้นำ ๒. ภูมิหลังของกรรมการ ๓. โครงสร้างของสภา ๔. ระบบการบริหารสภา ๕. วัฒนธรรมองค์กรของสภา และ ๖. เครือข่ายความร่วมมือ

สมมติฐานการวิจัย
       โมเดลปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นนั้นมีความกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์

วิธีการวิจัย 
       ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยและพัฒนา(Research and Development) โดยแบ่งวิธีดำเนินการวิจัยออกเป็น ๒ ขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ ๑ การพัฒนาโมเดลปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล โดยการวิเคราะห์เอกสาร และการจัดสนทนากลุ่ม
ขั้นตอนที่ ๒ การตรวจสอบความกลมกลืนและวิเคราะห์ลักษณะอิทธิพลเชิงสาเหตุของโมเดลปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกับข้อมูลเชิงประจักษ์ 
       ๑. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากรในการวิจัย คือ ผู้บริหาร ซึ่งประกอบด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง ๙ แห่งๆ ละ ๓๐ คน รวม ๒๗๐ คน กรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง ๙ แห่งๆละ ๒๐ คน รวม ๑๘๐ คน และผู้บริหารตั้งแต่ระดับรองคณบดี และรองผู้อำนวยการขึ้นไป  ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง ๙ แห่ง  จำนวน ๑๑๘ หน่วยงานๆละ ๔ คน (กฏกระทรวง, ๒๕๔๙) รวม ๔๗๒ คน และ รวมทั้งสิ้น ๙๒๒ คน
กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย คือ ผู้บริหาร ซึ่งประกอบด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง ๙ แห่ง กรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง ๙ แห่ง และผู้บริหารตั้งแต่ระดับรองคณบดี และรองผู้อำนวยการขึ้นไปของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง ๙ แห่ง จำนวน ๑๑๘ หน่วยงาน โดยการใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) การกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้เกณฑ์ตามตารางของ Yamane (พรรณี ลีกิจวัฒนะ, ๒๕๔๘) ที่ความเชื่อมั่น ๙๕% และความคลาดเคลื่อน ๐.๐๔ ได้ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๓๗๒ คน และการวิเคราะห์ด้วยโปรแกรม Lisrel ใช้เกณฑ์ขนาดกลุ่มตัวอย่างต่อตัวแปรสังเกตได้ (Observed Variable) จำนวน ๑๐-๒๐ เท่า (Hair, et al., 1998; Wiratchai, 1999 cited in Limchumroon and Lawthong, 2009)
       ๒. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
          เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม แบ่งเป็น ๒ ตอน คือ
          ตอนที่ ๑ สภาพทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ๖ ข้อ มีลักษณะเป็นการตรวจสอบรายการ (Check List)
          ตอนที่ ๒ แบบสอบถามปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า ๕ ระดับ มีค่าความเชื่อมั่น ๐.๙๒

การวิเคราะห์ข้อมูล 
       ๑. วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยใช้สถิติบรรยาย (descriptive statistic) และการวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor Analysis) เพื่อสกัดองค์ประกอบของตัวแปร โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS
       ๒. วิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป Lisrel เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องกลมกลืนของโมเดล โดยค่าสถิติและเกณฑ์ที่ใช้ตรวจสอบความสอดคล้องกลมกลืนของโมเดลกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (นงลักษณ์ วิรัชชัย, ๒๕๔๒; สุภมาส อังศุโชติ และคณะ, ๒๕๕๑; Joreskog and Sorbom, 1993) มีดังนี้
   1) ค่าสถิติไค-สแควร์ (chi-square) ต่อค่าองศาความเป็นอิสระ(degree of freedom) มีค่าน้อยกว่า 2
   2) ค่าดัชนีความกลมกลืน (goodness of fit index : GFI) มีค่าเข้าใกล้ 1
   3) ค่าดัชนีความกลมกลืนที่ปรับแก้แล้ว (adjusted goodness of fit index : AGFI) มีค่าเข้าใกล้ 1
4) ค่าดัชนีรากของค่าเฉลี่ยกำลังสองของส่วนเหลือ (root mean square residual : RMR) มีค่าเข้าใกล้ 0

 ผลการวิจัย 


       โมเดลปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลโดยภาพรวม ปรากฏว่าโมเดลตามสมมติฐาน มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์อยู่ในเกณฑ์ดี (สุภมาศ อังศุโชติ , ๒๕๕๑) โดยพิจารณาจาก ค่าไค-สแควร์เท่ากับ ๑.๑๔๓ ที่องศาอิสระเท่ากับ ๑๒๔ ดัชนี GFI เท่ากับ ๐.๙๒ ดัชนี AGFI เท่ากับ ๐.๘๗ ค่า Standardizer RMR เท่ากับ ๐.๐๒๗ และค่า RMSEA เท่ากับ ๐.๐๔๘ ตัวแปรที่มีอิทธิพลทางตรงต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ได้แก่ ภาวะผู้นำ เครือข่ายความร่วมมือ โครงสร้าง ภูมิหลัง และระบบบริหาร

สรุปผลการวิจัยตามสมมติฐานได้ดังนี้
       ๑. ภาวะผู้นำของกรรมการสภามหาวิทยาลัย มีอิทธิพลทางตรงต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ด้วยขนาดอิทธิพล ๐.๔๔ (มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕) แสดงว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มีภาวะผู้นำ จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทได้ดี
       ๒. ภูมิหลังของกรรมการสภามหาวิทยาลัย มีอิทธิพลทางตรงต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ด้วยขนาดอิทธิพล ๐.๐๑ (มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕) แสดงว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มีภูมิหลัง จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทได้ดี
       ๓. โครงสร้างของกรรมการสภามหาวิทยาลัย มีอิทธิพลทางตรงต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ด้วยขนาดอิทธิพล ๐.๓๕ (มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕) แสดงว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มีภูมิหลัง จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทได้ดี 
       ๔. ระบบบริหารของสภามหาวิทยาลัย มีอิทธิพลทางตรงต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ด้วยขนาดอิทธิพล -๐.๓๒ (มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕) แสดงว่า ระบบบริหารของสภามหาวิทยาลัยที่ดี จะส่งผลให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทได้ดี 
       ๕. วัฒนธรรมองค์กรของสภามหาวิทยาลัย ไม่มีมีอิทธิพลทางตรงต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (นัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕) แสดงว่าวัฒนธรรมองค์กรของสภามหาวิทยาลัย ไม่มีผลให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทได้ดี
       ๖. เครือข่ายความร่วมมือ มีอิทธิพลทางตรงต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ด้วยขนาดอิทธิพล -๐.๓๙ (มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕) แสดงว่าการมีเครือข่ายความร่วมมือของสภามหาวิทยาลัย จะส่งผลให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทได้ดี
ผลการวิจัยดังกล่าวข้างต้น ทำให้สามารถสรุปผลได้ว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยจะมีบทบาทในการปฏิบัติหน้าที่ได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายตัว ไม่ใช่ปัจจัยตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานของผู้วิจัย ปัจจัยที่มีอิทธิพลทางตรงต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มี ๕ปัจจัยได้แก่ ภาวะผู้นำ เครือข่ายความร่วมมือ โครงสร้าง ภูมิหลัง และระบบบริหาร

อภิปรายผลการวิจัย 
          จากโมเดลปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตามสมมติฐานการวิจัย ผลการวิจัยพบว่า โมเดลตามสมมติฐานสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ซึ่งสามารถอธิปรายผลการวิจัยได้ดังนี้
       ๑. ภาวะผู้นำของกรรมการสภามหาวิทยาลัย มีอิทธิพลทางตรงต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลโดยส่งผลในทิศทางบวก แสดงว่า เมื่อกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีภาวะผู้นำสูง จะส่งผลให้สามารถปฏิบัติหน้าตามบทบาทได้ดี กล่าวคือ เมื่อกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีภาวะผู้นำในการปฎิบัติงาน การประชุมร่วมกันเพื่อตัดสินใจในวาระต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการวางนโยบายและการออกระเบียบข้อบังคับ ด้านการพิจารณาดำเนินการและการพิจารณาให้ความเห็นชอบ ด้านการกำกับ ติดตาม และประเมิลผล หรือด้านการส่งเสริมและสนับสนุนงานของมหาวิทยาลัยก็ตาม การปฎิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ต่างๆเหล่านั้น ก็ย่อมจะส่งผลดีต่อการตัดสินใจและส่งผลให้ภาพรวมของการทำงานร่วมกันเป็นไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยได้ดีในภาพรวม การมีวุฒิภาวะด้านภาวะผู้นำของกรรมการสภามหาวิทยาลัยนั้นมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจเพื่อการบริหารงานในสภามหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยสภามหาวิทยาลัยเป็นเสมือนคณะกรรมการบริหารสูงสุดขององค์กร จำเป็นต้องมีบทบาท และมีความสามารถในการกล้าตัดสินใจทั้งในการตัดสินใจด้วยความคิดเห็นส่วนตัว และความคิดเห็นร่วมเพื่อการริเริ่มสร้างสรรค์ทางวิชาการ และการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆในทิศทางที่สอดคล้องกับแนวนโยบายที่กำหนดไว้ สอดคล้องกับงานวิจัยของ เกียรติกำจร กุศล (๒๕๔๙)  ที่กล่าวไว้ว่า ภาวะความเป็นผู้นำ หมายถึง กระบวนการของบุคคลที่สามารถใช้ศิลปะในการโน้มน้าวผู้อื่นให้ร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติงาน ให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้นำจะต้องมีคุณลักษณะที่เหมาะสมทั้งด้านความรู้ ความสามารถ สติปัญญา มีการมองการณ์ไกล มีความเป็นธรรมโดยยึดหลักธรรมประจำใจในการบริหารจัดการ รับผิดชอบงาน เข้าใจความเป็นคนของผู้ร่วมงาน ภาวะความเป็นผู้นำเป็นองค์ประกอบหลักที่มีความสำคัญต่อทุกองค์กรที่ต้องการพัฒนา หากปราศจากผู้นำในองค์กรอาจจะทำให้การดำเนินงานภายในองค์กรขาดประสิทธิภาพได้ ผู้นำมีบทบาทหน้าที่ต่างๆ กัน ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของงานหรือกิจกรรม ปัญหา สถานการณ์และกลุ่มที่เกี่ยวข้อง และสอดคล้องกับแนวคิด ทฤษฎีของ Fiedler (1976) ที่กล่าวว่าภาวะความเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ ขึ้นอยู่กับความสอดคล้องระหว่างตัวผู้นำและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องด้วย
       ๒. ภูมิหลังของกรรมการสภามหาวิทยาลัย มีอิทธิพลทางตรงต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลโดยส่งผลในทิศทางบวก แสดงว่าภูมิหลังด้านประสบการณ์ในการบริหารจัดการศึกษา ภูมิหลังด้านประสบการณ์ในการบริหารจัดการองค์กร และตำแหน่งทางวิชาการของกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ดี จะส่งผลให้สามารถปฏิบัติหน้าตามบทบาทได้ดี กล่าวคือ เมื่อกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีความรู้ มีวุฒิภาวะ มีคุณวุฒิ มีระดับการศึกษาสูง และมีประสบการณ์มาก ก็จะสามารถปฏิบัติงานได้ดีตามบทบาทหน้าที่ที่กำหนดไว้ในภาระงานของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยของ Papalia & Olds (1985) ได้กล่าวว่าปัจจัยภูมิหลังเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อปัจจัยอื่นๆ เนื่องจากภูมิหลังเป็นสิ่งสะท้อนถึงพฤติกรรมที่แสดงออกของมนุษย์ ทั้งที่มองเห็นหรือสังเกตเห็นได้และที่มองไม่เห็นหรือสังเกตเห็นไม่ได้ ซึ่งภูมิหลังของแต่ละบุคคลจะเป็นสิ่งสะท้อนถึงลักษณะของบุคลิคภาพที่แตกต่างกันออกไป เนื่องจากภูมิหลังเป็นสิ่งที่มนุษย์แต่ละคนประสบมาแล้วในอดีตเป็นภาวะของการขัดเกลาทางสังคม (Socialization) ที่สร้างสมมาเป็นเวลายาวนานจนกลายเป็นทัศนคติ ความเชื่อ ค่านิยม ทั้งที่แสดงออกให้เห็นโดยพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งจะนำไปสู่ลักษณะของบุคลิคภาพที่เหมาะสมและที่ไม่เหมาะสมได้เช่นเดียวกัน และสอดคล้องกับงานวิจัยของ Tierney, Kezar and Minor (2008) ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการสรรหาและการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยของรัฐ สรุปเกี่ยวกับที่มา และภูมิหลังของกรรมการแต่ละคนว่า กรรมการบริหารจัดการวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยของรัฐนั้นมีความสำคัญต่อองค์กรเป็นอย่างมาก เพราะเป็นบุคคลที่จะช่วยนำพาสถาบันฯและพัฒนาสถาบันฯไปสู่เป้าหมายที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม จึงต้องมีภูมิหลังที่ดี และงานวิจัยของ เสนาะ เพียรธัญกรณ์ (๒๕๓๘) ได้สรุปเกี่ยวกับลักษณะและที่มาของกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกว่า กรรมการสภาที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกจะมีส่วนช่วยเหลือมหาวิทยาลัยมากกว่ากรรมการสภาที่มาจากบุคคลภายในสถาบัน โดยพบว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการกลุ่มบุคคลภายนอกจะมีลักษณะ ดังนี้ ๑) เป็นผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงาน ที่มหาวิทยาลัยต้องการประสานติดต่ออย่างใกล้ชิด เช่น เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย อธิบดี เป็นต้น ๒) เป็นผู้ทรงคุณวุฒิรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ ที่มีการสอนในมหาวิทยาลัยนั้นๆ ๓) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดและชี้แนะความต้องการของบัณฑิต เช่น นายธนาคาร เจ้าของบริษัทใหญ่ๆ เป็นต้น
       ๓. โครงสร้างของสภามหาวิทยาลัยมีอิทธิพลทางตรงต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลโดยส่งผลในทิศทางบวก แสดงว่าโครงสร้างของสภามหาวิทยาลัยที่ดีและเหมาะสม จะส่งผลให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทได้ดี สอดคล้องกับงานวิจัยของ Moses (2007) ที่กล่าวว่า องค์ประกอบของโครงสร้างสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งนั้นแตกต่างกันในแต่ละประเทศ     และแม้ในประเทศเดียวกันก็แตกต่างกัน รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา หลักการ คือ เป็นองค์ประกอบและจำนวนสมาชิกที่ทำหน้าที่บริหารจัดการได้ดี ทำให้เกิดการกำกับที่ดี มีการรับผิดรับชอบ และทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขันกับสถาบันในประเทศ  หรือรวมทั้งในต่างประเทศด้วยหลักการคือให้ได้กรรมการสภาฯ ที่ทำหน้าที่เป็นองค์คณะที่เข้มแข็ง การได้มาอาจโดยการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง ที่มามักเป็นคนนอกมหาวิทยาลัย แต่บางแห่งก็มีคนในเป็นสมาชิกที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงก็มี  เป็นสมาชิกที่ไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงก็มี และสอดคล้องกับงานวิจัยของ วัฒนา ล่วงลือ (๒๕๓๘) ที่ได้ศึกษาวิจัยเรื่องการวิเคราะห์ตัวบ่งชี้ประสิทธิผลของสภามหาวิทยาลัยไทย ที่พบว่าสภามหาวิทยาลัยขนาดเล็กมีประสิทธิผลสูงกว่าสภามหาวิทยาลัยขนาดกลางและขนาดใหญ่ในทุกมิติ คือ มิติเชิงความเข้าใจบริบทของสถาบัน มิติเชิงการศึกษาข้อมูล มิติเชิงการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม มิติเชิงการมีส่วนร่วม มิติเชิงการสนับสนุนงานของมหาวิทยาลัย มิติเชิงการวิเคราะห์ปัญหาแลการตัดสินใจ มิติเชิงการติดตามและประเมินผล และมิติเชิงการกำหนดกุศโลบาย
       ๔. วัฒนธรรมองค์กรของสภามหาวิทยาลัยไม่มีอิทธิพลทางตรงต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล แสดงว่าวัฒนธรรมองค์กรของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลไม่มีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการสภามหาวิทยาลัย
       ๕. ระบบการบริหารของสภามหาวิทยาลัยมีอิทธิพลทางตรงต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลโดยส่งผลในทิศทางบวก แสดงว่าระบบการบริหารของสภามหาวิทยาลัยที่ดี จะส่งผลให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทได้ดี สอดคล้องกับงานวิจัยของ Moses (2008) ที่สรุปว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ว่าจะมาจากคนกลุ่มใด มาทำหน้าที่กรรมการสภาเพื่อผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยในภาพรวม ไม่ใช่มารักษาผลประโยชน์ของกลุ่มที่เลือกตนมา และไม่ใช่ตัวแทนของกลุ่มนั้น เป็นการรับผิดชอบต่อมหาวิทยาลัยไม่ใช่การรับผิดชอบต่อกลุ่ม กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องรับผิดรับชอบต่อการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สูงสุดของมหาวิทยาลัยร่วมกัน คือทำงานและรับผิดรับชอบเป็นองค์คณะ กรรมการสภามหาวิทยาลัยในโลกนี้มีวิธีทำงาน ๒ รูปแบบ คือ  ๑) ลักษณะที่ประชุม (Council) กับ ๒) ลักษณะกรรมการของประธาน (Board of Directors)  กรรมการสภาฯ ที่ทำงานลักษณะที่ประชุม (Council) ทำงานโดยคิดว่าหน้าที่สำคัญคือมาประชุม เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น อาจารย์  นักศึกษา  พนักงาน   ศิษย์เก่า  ผู้แทนชุมชน  ผู้แทนรัฐบาล เป็นต้น ทำหน้าที่กำกับดูแล นโยบาย เป้าหมาย  ทิศทาง  ยุทธศาสตร์ และการเงิน ของมหาวิทยาลัย กรรมการสภาที่ทำหน้าที่ลักษณะกรรมการของประธาน (Board of Directors)  ทำงานเป็นองค์คณะไม่ใช่เป็นตัวแทนกลุ่มของตน คือเป็นคนกลุ่มเดียวกันแม้จะมีที่มาต่างกัน และมักมีกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิในลักษณะ Professional Board of Directors คือเป็นกรรมการสภามืออาชีพ ที่เข้าใจหลักการเป็น Board of Directors และมีทักษะในการทำหน้าที่ คือมองการทำหน้าที่กรรมการสภาว่าเป็นงานที่ต้องการความรู้ความเข้าใจและทักษะ เพื่อให้สามารถมีความรับผิดรับชอบได้อย่างจริงจัง และมีแนวโน้มว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยใน แนว Board of Directors จะเป็นที่นิยมถือปฏิบัติมากขึ้นเรื่อยๆ
       ๖. เครือข่ายความร่วมมือของสภามหาวิทยาลัยมีอิทธิพลทางตรงต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล แสดงว่าการมีเครือข่ายความร่วมมือของสภามหาวิทยาลัยที่ดี จะส่งผลให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทได้ดี สอดคล้องกับผลการจัดสนทนากลุ่ม (Focus Group, 2009) ที่สรุปว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เป็นมหาวิทยาลัยใหม่ที่จำเป็นต้องมีเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลด้วยกันทั้ง ๙ แห่ง เครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกับมหาวิทยาลัยทั่วไป และการแสวงหาเครือข่ายความร่วมมือในระดับสากล สอดคล้องกับแนวคิด ทฤษฎีของ Croewther (1996) ที่กล่าวว่า ความร่วมมือ เป็นคุณลักษณะที่สำคัญที่ทำให้การทำงานร่วมกันหรือการทำงานเป็นทีมประสบความสำเร็จ ความร่วมมือจึงเป็นคุณลักษณะที่กลุ่ม ทีม หรือองค์กรพึงปราถนา ซึ่งหมายถึงการทำงานร่วมกับผู้อื่น การร่วมมือกัน การร่วมรู้ร่วมคิด การทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อสร้างบางสิ่งบางอย่างร่วมกัน
  
ข้อเสนอแนะ
       ข้อเสนอแนะในการนำผลวิจัยไปใช้
       ๑. ภาวะผู้นำของกรรมการสภามหาวิทยาลัย เป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลทางตรงต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลมากที่สุด ดังนั้นในการได้มาซึ่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จึงควรพิจารณาถึงวุฒิภาวะด้านภาวะผู้นำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะผู้นำของนายกสภามหาวิทยาลัย และภาวะผู้นำในการปฏิบัติหน้าที่ด้านต่างๆ ทั้งด้านการวางนโยบาย การกำกับติดตาม และการส่งเสริมและสนับสนุนงานของมหาวิทยาลัย
       ๒. เครือข่ายความร่วมมือ เป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลทางตรงต่อบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรองลงมาจากตัวแปรด้านภาวะผู้นำ ดังนั้นในการได้มาซึ่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จึงควรพิจารณาถึงการส่งเสริมให้การทำงานของกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีโอกาสในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้มากขึ้น โดยเฉพาะเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลด้วยกันทั้ง ๙ แห่ง เครือข่ายความร่วมมือระหว่างสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ และการแสวงหาเครือข่ายความร่วมมือในระดับสากล

No comments: