06 April 2008

Participation in Vocational Education for Sustainable Development

การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
(Participation in Vocational Education for Sustainable Development)
ปกรณ์ ลวกุล (นักศึกษา ปริญญาเอก สาขาการบริหารอาชีวศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สจล.)

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
อนาคตของมนุษยชาติจะดำรงชีวิตอยู่รอดในระยะยาวได้หรือไม่ บนโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งด้านบวกและลบ Paul A. Laudicina (2005) เสนอแนวคิดเพื่อสร้างความ ตระหนักในการปฏิบัติตนและสร้างความเข้าใจถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงไปของโลกภายนอกที่ประกอบด้วยปัจจัยสำคัญๆ 5 ประการที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต อันได้แก่ 1) การเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกาภิวัตน์ 2) การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างประชากรของโลก 3) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มใหม่ 4) ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5) แนวโน้มการวางระเบียบกฎเกณฑ์และการเรียกร้องเพื่อปกป้องผลประโยชน์ระหว่างชาติ
ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นนี้อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนากระบวนการจัดการที่ขาดการบูรณาการ โดยไม่ คำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน การจัดการศึกษาเพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาตระหนักถึงความสำคัญของผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่เกิดจากภาวะการเปลี่ยนแปลงของประชากรอันเนื่องมาจากจากการคุมกำเนิดรวมถึง เทคโนโลยีการรักษาพยาบาลที่พัฒนาขึ้นทำให้มีประชากรผู้สูงอายุ เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก อีกทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกป้องผลประโยชน์ระหว่างชาติ
ทำให้มีผู้ลี้ภัย และผู้พิการเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามลำดับ

อาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
องค์การยูเนสโก(2550) ได้เน้นย้ำถึงการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Education for Sustainable Development : ESD) ให้เป็นวาระของโลก ด้านการศึกษาในระยะ 10 ปี (คศ.2005-2014) โดยเน้นย้ำถึงการให้การศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้นการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงเป็นการศึกษาสำหรับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสถานภาพของการเรียนรู้ การศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนสามารถทำให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานหลายหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานของ ภาครัฐและภาคเอกชน ความร่วมมือนี้อาจทำได้โดยการใช้รูปแบบและยุทธวิธีที่หลากหลายทั้งในส่วนของการประชาสัมพันธ์ การให้ความรู้ และการฝึกอบรม เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษามีความเข้าใจสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
Lauglo and Maclean (2005) กล่าวว่าการศึกษาคือกุญแจแห่งความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาถือเป็นกุญแจหลัก (Master key) ของการพัฒนา โดยให้เหตุผลว่าการอาชีวศึกษามีบทบาทสำคัญในการผลิตกำลังคนสู่โลกของแรงงานทั้งหมด จากตัวเลขทางสถิติ ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization and International Center for Technical and Vocational Education and Training(UNESCO,UNEVOC) (2007) พบว่าประมาณร้อยละ 80 ของภาคแรงงานทั้งหมด ต้องการกำลังคนด้านอาชีวศึกษาเป็นหลัก
การจัดการศึกษาอาชีวศึกษา เป็นการจัดการศึกษาเพื่อมุ่งเน้นให้ผู้จบการศึกษามีอาชีพ สู่โลกของการมีงานทำ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข การบริหารจัดการศึกษาการอาชีวศึกษาจึงมีส่วนเกี่ยวข้องและเชื่อมโยง ทั้งทางด้านสังคม และด้านการศึกษา ในส่วนของการผลิตกำลังคนเข้าสู่ภาคแรงงาน ทั้งในด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับมิติด้านแรงงาน ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิต ผลกระทบต่อมลภาวะที่เปลี่ยนแปลง และด้านวัฒนธรรมที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงลักษณะการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคม

การมีส่วนร่วม ในการพัฒนา
ความเกี่ยวข้องกันของทุกภาคส่วนสามารถจำลองเป็นโมเดลกรอบแนวคิดการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนี้

องค์ประกอบสำคัญทั้งสามส่วน ได้แก่ การจัดการศึกษาอาชีวศึกษา กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องได้รับการสำรวจเพื่อการวิจัยและพัฒนาร่วมกันบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน ต้องศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยทั้งมิติภายในและมิติภายนอกที่มีผลกระทบระหว่างกันทั้งที่เกื้อกูลต่อกันและต่อต้านกัน ประการสำคัญคือผลของการวิจัยและพัฒนานั้นต้องบูรณาการไปสู่การมีส่วนร่วมเพื่อนำไปปฏิบัติจริงให้บังเกิดผล
หน่วยงานทุกภาคส่วนต้องหาวิธีการในการประสานความร่วมมือให้ครอบคลุมทั้งมิติของการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา มิติการพัฒนาอย่างยั่งยืน และบริบทของสิ่งแวดล้อม สังคมเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องมีกรอบแนวคิดบนพื้นฐานการวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงการปรับเปลี่ยนดังกล่าวและปลูกฝังวัฒนธรรมใหม่ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมของทุกหน่วยงาน (Corporate Social Responsibility: CSR)

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จากรูปแบบโมเดล ของ Dr.Harry Stolte สามารถเทียบเคียงแสดงให้เห็นถึง การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ว่าการมีส่วนร่วมในการพัฒนา ผู้มีส่วนร่วมหรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Steak Holder) ที่เกิดขึ้นจากทั้งก่อนการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา ระหว่างการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาและผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา ในส่วนของครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยต่างๆ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น องค์กรเอกชน ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ เป็นต้น
หากจะพิจารณาเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นจะเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยสถาบันการศึกษา สถานประกอบการที่เป็นผู้ใช้แรงงาน องค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่นั้น และ หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลการจัดการศึกษา องค์กรดังกล่าว ควรร่วมมือกันในการพิจารณาหาแนวทางการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างกว้างขวางและเป็นรูปธรรม โดยคำนึงถึงกระแสความเปลี่ยนแปลงในการจัดการที่เป็นสากล เนื่องจากปัจจุบัน การพัฒนาในระดับมหภาค ต้องพิจารณาผลกระทบของการพัฒนาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่ส่งผลต่อการพัฒนาไปยังอีกพื้นที่หนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ การตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อภาพรวมในระดับพื้นที่ต่อพื้นที่ ชุมชนต่อชุมชน ภูมิภาคต่อภูมิภาค และในระดับประเทศต่อประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

แนวทางสู่การปฏิบัติจริง
การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามข้อเสนอของที่ประชุม UNESCO นั้น มีความน่าสนใจอย่างยิ่งต่อความหมายของบริบทการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาในประเทศไทย โดยมิอาจหลีกเลี่ยงต่อประเด็นดังกล่าวได้ เนื่องจากความจำเป็นของประเทศในการที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์ต่อประเทศอื่นๆ ประเด็นของการนำไปสู่การปฏิบัติจริงที่ควรต้องคำนึงถึงเพื่อนำไปสู่การจุดประกายความคิดและนำไปสู่การอภิปรายอย่างกว้างขวางคือ ในส่วนของการปรับปรุงกระบวนการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับอุปสงค์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ 21 ที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติระบบข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยี สำหรับการปรับปรุงระบบการจัดการศึกษา และการฝึกอบรมที่เชื่อมโยงโลกของการศึกษาและโลกของการอาชีพเข้าด้วยกัน รวมถึงการใช้นวัตกรรมในการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะที่สัมพันธ์สอดคล้องกับกระบวนการผลิต ทั้งนี้การเตรียมบุคลากรเข้าสู่โลกของการทำงาน โดยไม่มีข้อจำกัด การส่งเสริมแรงงานสตรี ผู้พิการ เยาวชนนอกระบบโรงเรียน ผู้เกษียณอายุ ผู้ลี้ภัย และผู้ด้อยโอกาสต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้บทบาทใหม่ในรูปนโยบายของภาครัฐบาล และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ประเด็นสุดท้ายคือการส่งเสริมและสอดรับของความร่วมมือระดับชาติ ด้านการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา (ชินภัทธ:2542)

ลักษณะ และวิธีการมีส่วนร่วม
จากหลักการมีส่วนร่วมตามแนวคิดของ Cohen and Uphoff (1980) อคิน รพีพัฒน์ (2527)และไพรัตน์ เดชะรินทร์(2527) ในส่วนของลักษณะของการมีส่วนร่วมที่ควรนำไปสู่ปฏิบัติตามลำดับขั้น ดังนี้
1) การมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหาและวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไข โดยการเข้าร่วมประชุม แสดงความคิดเห็น ให้ข้อมูล ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่จะเลือกจัดทำโครงการต่างๆ 2) การมีส่วนร่วมในการวางแผน ในส่วนของการมีส่วนร่วมในการรับรู้การวางแผนการดำเนินงาน 3) การมีส่วนร่วมในการดำเนินการ การทำประโยชน์ตามโอกาสและตามกำลังความสามารถ การช่วยเหลือด้านวัสดุอุปกรณ์ ทุนทรัพย์และแรงงานหรือโดยการบริหารงานและประสานงานตลอดจนดำเนินการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา 4) การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินงาน เมื่อเสร็จสิ้นโครงการ การมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา แก้ไขสิ่งบกพร่องและสรุปผลการดำเนินงาน และ 5) การมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์จากการดำเนินการ ทั้งนี้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์จากการเข้าร่วมพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น แรงจูงใจด้านภาษี การนำระบบการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจมาสู่การปฏิบัติ เป็นต้น

บทสรุปเพื่ออนาคต
การนำแนวความคิดของการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนดังกล่าวไปสู่การฏิบัตินั้น เงื่อนไขความสำเร็จที่สำคัญอยู่ที่การได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังทั้งระดับองค์กรปกครองท้องถิ่น และ ภาครัฐ โดยมีการวิจัยและพัฒนาควบคู่ไปกับการสร้างความร่วมมือ เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่ชัดเจน โดยรัฐจะต้องสร้างบรรยากาศแห่งความร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนกับทุกภาคส่วนของสังคมภายใต้กรอบของกฎหมายที่เอื้อต่อการปฏิบัติ และมีมาตรการเชิงกลยุทธ์ที่สามารถจูงใจให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาที่เชื่อมโยงสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและตระหนักถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

คำสำคัญ (Key words): Paticipations; Vocational Education; ESD(Education for Sustainable Development; CSR (Corporate Social responsibility)
--------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง

- Cohen. J and Uphoff.D. 1980. Rural Development Participation: Concept and Measures for Project Desing Implementation and Evaluation Rural Development Center New York :
Cornell University.
- Harry Stolte. 2007. General methodological approaches to introduce innovations in TVET Teacher education towards ESD : International Consultation on Education for Sustainable Development International Consultation Meeting : TVET Teacher Education towards Sustainability Chiangmai, August 2007
- Lauglo and Maclean. 2005. Vocationalisation of Secondary Education Revisited : Springer International in collaboration with World Bank and UNESCO-UNEVOC
- Martin Carnoy. 1999. Grobalization and educational reorm:what planners need to know. Paris : UNESCO
- Paul A. Laudicina. 2005. World Out of Balance: Navigating Global Risks to Seize Competitive Advantage. New York: McGraw-Hill
- TVET for Sustainable Development. 2006. International Experts’ Meeting in Ho Chi Minh City
Vietnam 2–5 July 2006
- UNESCO and ILO Recommendations. 2002. Technical and Vocational Education and Training for Twenty-first Century
- การศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน. 2550. [On line]. Available :
http://www.unescobkk.org/index.php?id=3809
- การพัฒนาอย่างยั่งยืน. 2550. [On line]. Available :
http://www.unescobkk.org/fileadmin/user_upload/shs/BEfiles/chapterB.tha/B6Th.doc
- ชินภัทธ ภูมิรัตน. 2542. สรุปผลการประชุมคองเกรสนานาชาติ ครั้งที่ 2 เรื่อง เทคนิคศึกษาและอาชีวศึกษา ณ กรุงโซล ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี 26-30 เมษายน 2542. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
- ไพรัช เดชรินทร์. 2527. นโยบายและกลวิธีการมีส่วนร่วมของชุมชนในยุทธศาสตร์การพัฒนาปัจจุบัน
ใน ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนา : กรุงเทพมหานคร
ศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล
- สถาบันนวัตกรรมวชิรจันทร์. 2550. การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development). [On line]. Available : http://tiger.co.th/index.php
- สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. 2549. การมีส่วนร่วมจัดการศึกษาของเอกชน องค์กรปกครองท้องถิ่น
พ่อแม่ ผู้ปกครอง และการศึกษาทางเลือก. กรุงเทพฯ : วี ที ซี คอมมิวนิเคชั่น
- ศิริชัย สาครรัตนกุล. 2548. คอลัมน์ ระดมสมอง ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 29
ฉบับที่ 3705(2905)
- อคิน รพีพัฒน์. 2527. การมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาชนบทในสภาพสังคมและวัฒนธรรมไทย :
ศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล

No comments: